แนวทางในการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน
1. ภาพรวมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน
เป็นเวลา 40 ปีมาแล้วที่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย และได้มีการพัฒนาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตทั้งอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จากการประเมินสถานการณ์ปาล์มน้ำมันล่าสุดในปี พ.ศ. 2550 พบว่า ไทยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมันประมาณ 2.7 ล้านไร่ ผลผลิต ทะลายปาล์มประมาณ 6.7 ล้านตัน/ปี มูลค่าผลผลิตทะลายประมาณ 30,000 ล้านบาท/ปี เกษตรกรที่มีอาชีพในการทำสวนปาล์มน้ำมันมีมากกว่า 1 แสนครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ปลูกอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ ผลผลิตทะลายทั้งหมดที่เกษตรกรผลิตได้จะขายให้กับพ่อค้าคนกลาง (อาจเรียก ลานเท หรือ แล็ม) หรือขายให้กับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบโดยตรง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 48 โรงงาน ที่ตั้งโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทางภาคใต้เช่นกัน ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่สกัดได้ประมาณ 1.3 ล้านตัน/ปี มูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท/ปี ปริมาณเนื้อเมล็ดในปาล์ม ประมาณ 8 แสนตัน/ปี มูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท น้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดเกือบทั้งหมดจะขายให้กับโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มในไทย ซึ่งมีจำนวน 12 โรงงาน ที่ตั้งโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทางภาคกลาง ปริมาณน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ที่ผลิตได้ประมาณ 1 ล้านตัน/ปี มีมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท ปริมาณน้ำมันปาล์มสเตียรีนประมาณ 3 แสนตัน/ปี มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท นอกจากผลผลิตหลักที่ได้จากปาล์มน้ำมันที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในกระบวนการผลิตระดับสวนปาล์มและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มยังมีวัสดุพลอยได้อื่นๆ อีกจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ลำต้นแก่ ช่อดอกเพศผู้ ทางใบปาล์ม ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน กากเนื้อเมล็ดในปาล์มน้ำมัน กากเส้นใย กะลาปาล์ม กากตะกอนในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม น้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน และน้ำมันปาล์มใช้แล้ว เป็นต้น
2. องค์ความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน
ในการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันเพื่อให้ได้พันธุ์ดีที่มีผลผลิตน้ำมัน/หน่วยพื้นที่สูง จำเป็นอย่างยิ่งที่นักปรับปรุงพันธุ์ต้องเข้าใจลักษณะโครงสร้างพื้นฐานทางพันธุกรรมและลักษณะพื้นฐานทางการเกษตรของปาล์มน้ำมัน รวมทั้งต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านพันธุศาสตร์เพื่อช่วยให้งานปรับปรุงพันธุ์มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิผล ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
2.1 โครงสร้างทางพันธุกรรม และพันธุ์ปลูกของปาล์มน้ำมัน
ปาล์มน้ำมันจัดเป็นพืชยืนต้นที่สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่ละต้นมีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ในต้นเดียวกันแต่บานไม่พร้อมกัน จึงจัดเป็นพืชผสมข้ามต้น ดังนั้นโครงสร้างพันธุกรรมพื้นฐานของปาล์มน้ำมันจึงอยู่ในรูปของเฮเทอโรไซกัส (heterozygous) พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่นิยมใช้ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันเป็นปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอรา ซึ่งได้จากการควบคุมการผสมระหว่างปาล์มน้ำมันแบบดูรา (แม่พันธุ์) กับปาล์มน้ำมันแบบพิสิเฟอรา (พ่อพันธุ์) เนื่องจากปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอราจะให้ผลผลิตน้ำมัน/หน่วยพื้นที่/หน่วยเวลา สูงกว่าปาล์มน้ำมันแบบอื่นๆ การเก็บเมล็ดจากต้นปาล์มที่ไม่ผ่านการควบคุมการผสม (หรือเรียกเมล็ดโคนต้น) จะทำให้ต้นชั่วลูกมีความแปรปรวนสูงและมีผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่ต่ำไม่คุ้มค่ากับการลงทุนปลูก
2.2 ระยะต่างๆ ของปาล์มน้ำมัน และ ช่วงเวลาโดยประมาณ
ทางใบปาล์มทุกทางใบที่ถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นตลอดอายุของปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ระยะกล้าปาล์มในถุงเพาะเป็นต้นมา จะมีตาดอกอยู่ที่ซอกมุมทางใบปาล์ม และพร้อมที่จะพัฒนาเป็นช่อดอกได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น พันธุกรรมของปาล์มน้ำมัน สภาพแวดล้อมโดยธรรมชาติ และการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันตั้งแต่ระยะกล้าปาล์มในถุง จนถึงระยะที่ปลูกปาล์มลงในแปลงปลูกแล้ว ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาพันธุ์และการผลิตปาล์มน้ำมันมีประสิทธิผลสูง จึงจำเป็นต้องทราบระยะต่างๆ ที่สำคัญ และช่วงเวลาการพัฒนาโดยประมาณ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1) ระยะตาดอกในซอกทางใบ ถึงระยะกำหนดเพศของช่อดอก (ดอกเพศผู้หรือดอกเพศเมีย) ใช้ระยะเวลา 12 เดือน
2) ระยะกำหนดเพศของช่อดอก ถึงระยะช่อดอกโผล่พ้นทางใบให้เห็น ใช้ระยะเวลา 24 เดือน
3) ระยะผสมพันธุ์ ถึงระยะเก็บเกี่ยวทะลายปาล์ม ใช้ระยะเวลา 6 เดือน
4) ระยะเมล็ดพันธุ์ ถึงระยะเมล็ดงอกพร้อมเพาะปลูกลงถุงพลาสติกดำ ใช้ระยะเวลา 4 เดือน
5) ระยะกล้าปาล์มในถุงเพาะ ถึง ระยะกล้าปาล์มพร้อมปลูกลงแปลง ใช้ระยะเวลา 12-14 เดือน
6) ระยะต้นปาล์มในแปลงปลูก ถึงระยะการเริ่มให้ผลผลิตทะลาย ใช้ระยะเวลา 3 ปี โดยผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับพันธุ์ปาล์มและความสมบูรณ์ของต้นปาล์ม
7) ระยะต้นปาล์มในแปลงปลูก ถึงระยะการให้ผลผลิตทะลายสูงสุด ใช้ระยะเวลา 9-12 ปี โดยผลผลิตจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับพันธุ์ปาล์มและความสมบูรณ์ของต้นปาล์มเช่นกัน ปกติเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทะลายปาล์มได้นานมากกว่า 20 ปี
2.3 การปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ผลผลิตดี
การปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ผลดีนั้น ควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาปาล์มในแปลงให้ดี โดยเฉพาะช่วง 10 ปีแรกหลังจากปลูก เนื่องจากผลผลิตทะลายสดของปาล์มน้ำมัน จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการจัดการสวนปาล์ม 3 ช่วงเวลา คือ ช่วง 0-3 ปี (ก่อนให้ผลผลิต) ช่วง 4-10 ปี (ผลผลิตเพิ่มรวดเร็ว) และช่วงหลังจาก 10 ปี (ผลผลิตเริ่มลดลงตามอายุ) ดังนั้นจะเห็นว่าการจัดการสวนเพื่อให้ปาล์มน้ำมันที่ปลูกดีที่สุดในช่วงอายุ 0-10 ปีแรกจึงมีความสำคัญมาก
สำหรับข้อควรพิจารณาเพื่อการปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ผลผลิตดี และประสบความสำเร็จ ได้แก่
1) ใช้พันธุ์ปาล์มที่ดีมาปลูก
- ต้องเป็นพันธุ์ลูกผสมเทเนอรา ที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าให้ผลผลิตดีในประเทศไทย
- ต้องได้รับพันธุ์ปาล์มอย่างถูกต้องจากแหล่งผลิตที่มีมาตรฐานและน่าเชื่อถือ
2) ใช้ต้นกล้าปาล์มที่สมบูรณ์มาปลูก
- อายุต้นกล้าสมบูรณ์ที่เหมาะสม เพื่อนำมาปลูกประมาณ 12-14 เดือน
- กล้าปาล์มอายุดังกล่าว ต้องผ่านการคัดทิ้งต้นที่มีลักษณะผิดปกติและไม่สมบูรณ์ออก
3) เลือกปลูกในพื้นที่เหมาะสม
- ปริมาณน้ำฝน ควรมากกว่า 2,000 มม./ปี (หรืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1,700 มม./ปี) มีการกระจายของฝนดีตลอดทั้งปี
- มีความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศ มากกว่า 85% ตลอดทั้งปี
- มีแสงแดด ประมาณ 5-7 ชั่วโมง/วัน ตลอดทั้งปี
- มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25-29 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 29-33 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 22-24 องศาเซลเซียส
- ดินร่วนและมีการระบายน้ำดี
- คุณสมบัติทางเคมีของดินที่เหมาะสม (เฉพาะหน้าดิน ลึก 0-15 ซม.) เช่น มี pH 4.5-5.5 มี P ที่เป็นประโยชน์ > 20 mg/kg มี K ที่แลกเปลี่ยนได้ > 0.25 cmol/kg มี Mg ที่แลกเปลี่ยนได้ > 0.25 cmol/kg
4) จัดวางระยะปลูกปาล์มที่เหมาะสม
- ขึ้นอยู่กับลักษณะประจำพันธุ์ โดยทั่วไปใช้ ระยะ 9 x 9 x 9 เมตร
- ปลูกเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า มีประชากร ประมาณ 22 ต้น/ไร่ ที่ระยะปลูก 9 x 9 x 9 เมตร ไม่ควรใช้ระยะปลูกแคบ เพราะจะมีผลกระทบต่อการให้ผลผลิตของปาล์มเมื่อปาล์มมีอายุมากขึ้น นับตั้งแต่ปีที่ 8 เป็นต้นไป
5) เลือกช่วงเวลาการปลูกที่เหมาะสม
- ต้นฤดูฝนจนถึงกลางฤดูฝน
6) มีการจัดการและดูแลรักษาหลังปลูกที่ดี เช่น
- การกำจัดวัชพืช : ไม่ควรใช้สารเคมีฉีดจนถึงเดือนที่ 19 หลังปลูก ควรระวัง ผลกระทบของสารเคมีต่อใบและต้นปาล์ม
- การตัดช่อดอกทิ้ง : ขณะที่ปาล์มมีอายุน้อย (16-24 เดือน) หากมีการออกดอก ควรตัดหรือดึงช่อดอกเพศผู้และเพศเมียที่เกิดรุ่นแรกทิ้ง เพื่อให้ปาล์มได้มีการเจริญเติบโตทางลำต้นได้เต็มที่ ข้อควรระวังคือ ต้องไม่ทำลายทางใบที่รองรับช่อดอกที่ตัดทิ้งนั้น
- การใส่ปุ๋ย : ใส่ N , P, K , Mg , และ B ในอัตราที่เหมาะสมที่สุดกับอายุปาล์ม นับตั้งแต่การปลูกปีแรก ในปีที่ 2 หลังปลูก ควรเริ่มมีการวิเคราะห์ดินและใบปาล์ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการใส่ปุ๋ยให้ถูกต้องตามความต้องการธาตุอาหารของปาล์ม และควรวิเคราะห์ดินและใบอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง การใส่ปุ๋ยควรมีการแบ่งใส่ปุ๋ยอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ยกเว้นปุ๋ยฟอสฟอรัสใส่ได้ปีละ 1 ครั้ง
- การตัดแต่งทางใบ : ควรเริ่มตัดแต่งทางใบในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิต และเมื่อปาล์มให้ผลผลิตแล้วควรตัดทางใบให้เหลือทางใบอย่างน้อย 2 ชั้นล่างจากทะลายปาล์มต่ำสุด
- การอนุรักษ์ความชื้นดิน : วางซ้อนทางใบขวางแนวลาดเท อย่าปล่อยให้หน้าดินระหว่างแถวว่างเปล่าหรือคลุมโคนด้วยทะลายเปล่า
- การให้น้ำ : รักษาระดับน้ำไว้ที่ 0.8 เมตร
- ศัตรูปาล์ม : มีการป้องกันกำจัดหนูในสวนปาล์มทั้งก่อนและหลังจากที่ปาล์มให้ผลผลิต
- การเก็บเกี่ยว : เก็บเกี่ยวทุก 7-15 วัน เมื่อปาล์มถึงอายุเก็บเกี่ยว (ประมาณเดือนที่ 31 หลังการปลูก) ควรเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มที่สุกแก่พอเหมาะ โดยสังเกตจากการเปลี่ยนสีของผลปาล์มในทะลายและการร่วงของผลจากทะลายบนต้น จำนวน 3-5 ผล ไม่ควรเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มดิบหรือสุกแก่ไม่พอเหมาะส่งโรงงานสกัดน้ำมัน เพราะทำให้ปริมาณน้ำมันที่สกัดได้ต่ำ
7) บริเวณพื้นที่ปลูกปาล์มต้องมีแหล่งรับซื้อผลผลิตทะลายปาล์ม
- มีลานเท หรือพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิต
- มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
- เจ้าของสวนต้องประเมินปริมาณผลผลิต/ครั้งการเก็บเกี่ยว และค่าขนส่ง/หน่วยผลผลิต
เพื่อการตัดสินใจในการลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน
2.4 ความรู้ทางพันธุศาสตร์กับการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน
จากการศึกษาภายใต้โครงการ “การปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้มีผลผลิตน้ำมันสูง” ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สามารถประมวลองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมของปาล์มน้ำมันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันได้ดังนี้
1) ลักษณะเชิงคุณภาพของปาล์มน้ำมัน
จัดเป็นลักษณะของปาล์มน้ำมันที่มีอัตราการถ่ายทอดทางพันธุกรรมสูงมาก และไม่มีอิทธิพลของปัจจัยสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ลักษณะที่พบมียีนควบคุมเพียงคู่เดียวหรือน้อยคู่ การกระจายตัวของลักษณะในชั่วลูกเป็นแบบไม่ต่อเนื่อง ได้แก่
1.1) ลักษณะความหนาของกะลาปาล์ม พบว่า ถูกควบคุมด้วยยีนคู่เดียว โดยลักษณะกะลาปาล์มหนาถูกควบคุมด้วยยีนเด่นโฮโมไซกัส (homozygous) มักพบลักษณะในปาล์มน้ำมันแบบดูรา ในขณะที่ลักษณะกะลาปาล์มบางมากหรือเป็นเยื่อหุ้มเมล็ดในปาล์ม (kernel) ถูกควบคุมด้วยยีนด้อยโฮโมไซกัส มักพบลักษณะในปาล์มน้ำมันแบบพิสิเฟอรา เมื่อทดลองทำการผสมระหว่างต้นแม่-พ่อปาล์มน้ำมันแบบดูรากับพิสิเฟอราที่มีลักษณะกะลาข้างต้น จะทำให้ได้ปาล์มน้ำมันลูกผสมแบบเทเนอรา ที่มีลักษณะความหนาของกะลาบางลงและความหนาของกะลาอยู่ระหว่างลักษณะทั้งสอง ซึ่งสรุปผลได้ว่าการแสดงออกของยีนในลักษณะความหนาของกะลาปาล์มเป็นแบบบวก (additive gene action)
1.2) ลักษณะการปรากฏของเส้นใยสีน้ำตาลบริเวณเนื้อปาล์ม (mesocarp) เมื่อตัดผลปาล์มตามขวาง พบว่าลักษณะถูกควบคุมด้วยยีนคู่เดียว โดยลักษณะการปรากฏของเส้นใยสีน้ำตาลถูกควบคุมด้วยยีนเด่นโฮโมไซกัส ซึ่งพบในปาล์มน้ำมันแบบพิสิเฟอรา และแบบเทเนอรา ในขณะที่ลักษณะการไม่ปรากฏของเส้นใยสีน้ำตาลถูกควบคุมด้วยยีนด้อยโฮโมไซกัส ซึ่งพบในปาล์มน้ำมันแบบดูรา เมื่อทดลองทำการผสมระหว่างต้นแม่-พ่อปาล์มน้ำมันแบบดูรากับพิสิเฟอราที่มีลักษณะข้างต้น จะทำให้ได้ปาล์มน้ำมันลูกผสมแบบเทเนอราที่มีลักษณะการปรากฏของเส้นใยสีน้ำตาลกระจายบริเวณเนื้อปาล์มชัดเจน ซึ่งสรุปผลได้ว่าการแสดงออกของยีนเป็นแบบข่ม (dominant gene action) โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการข่มของยีนแบบสมบูรณ์ เนื่องจากสังเกตเห็นความเด่นชัดของการปรากฎของเส้นใยสีน้ำตาลในปาล์มแบบพิสิเฟอราและแบบเทเนอรา
1.3) ลักษณะสีผลปาล์มขณะยังดิบ (สีเขียวและสีดำ) พบว่าถูกควบคุมด้วยยีนคู่เดียว โดยลักษณะผลสีเขียวถูกควบคุมด้วยยีนด้อยโฮโมไซกัส ในขณะที่ลักษณะผลสีดำถูกควบคุมด้วยยีนเด่นโฮโมไซกัส หรือเฮเทอโรไซกัส จากการทดลอง เมื่อทำการผสมระหว่างต้นปาล์มแบบผลสีเขียว (ต้นพ่อ) จำนวน 1 ต้น กับต้นปาล์มแบบผลสีดำ (ต้นแม่) จำนวน 9 ต้น พบว่าชั่วลูกที่ได้ของแต่ละคู่ผสม (ทั้ง 9 คู่ผสม) มีลักษณะผลสีเขียว : ดำ ในอัตราส่วน 1 : 1 และเมื่อทำการผสมระหว่างต้นปาล์มผลสีดำ (ต้นพ่อ) จำนวน 1 ต้น กับต้นปาล์มผลสีดำ (ต้นแม่) อีกจำนวน 9 ต้น พบว่าชั่วลูกที่ได้ของแต่ละคู่ผสม (ทั้ง 9 คู่ผสม) มีลักษณะผลสีเขียว : ดำ ในอัตราส่วน 1 : 3 จำนวน 6 คู่ผสม และพบลักษณะผลสีดำทุกต้น จำนวน 3 คู่ผสม ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องใหม่เนื่องจากได้ผลการศึกษาตรงกันข้ามกับการศึกษาในอดีตซึ่งได้รายงานว่าลักษณะผลสีเขียวถูกควบคุมด้วยยีนเด่นโฮโมไซกัส หรือเฮเทอโรไซกัส ส่วนลักษณะผลสีดำถูกควบคุมด้วยยีนด้อยโฮโมไซกัส (Beirneart and Vanderweyen, 1941 อ้างโดย Corley and Tinker, 2003)
1.4) ลักษณะทางใบปาล์มบิดเป็นเกลียว (spiral frond symptom หรือ crown symptom) โดยทั่วไปลักษณะทางใบปาล์มบิดมักจะเริ่มแสดงอาการในปาล์มน้ำมันที่มีอายุน้อยอยู่ระหว่าง 2-4 ปี หลังจากปลูกลงแปลง และอาการทางใบบิดของปาล์มจะเริ่มหายไปเมื่อปาล์มมีอายุมากขึ้น จากรายงานพบว่าลักษณะนี้มีผลกระทบทำให้ผลผลิตทะลายปาล์มลดลงถึง 20-50% ผลการศึกษาทางพันธุกรรมในอดีตได้รายงานว่าลักษณะทางใบปาล์มบิดถูกควบคุมด้วยยีนด้อย 1 คู่ (de Berchoux and Gascon, 1960 อ้างโดย Corley and Tinker, 2003) หรือถูกควบคุมด้วยยีน 2 คู่ โดยยีนด้อยคู่หนึ่งควบคุมลักษณะทางใบบิด ส่วนยีนอีกคู่หนึ่งเป็นยีนเด่นแสดงผลในการยับยั้ง (inhibitor factor) การเกิดทางใบปาล์มบิด (Blaak, 1970 อ้างโดย Corley and Tinker, 2003)
จากการทดลองภายใต้โครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้ทำการผสมตัวเองต้นปาล์มน้ำมันแบบดูราอายุ 15 ปี ที่มีลักษณะทางใบปกติ และให้ผลผลิตทะลายสูง จำนวน 4 คู่ผสม และนำแต่ละคู่ผสมไปปลูก จำนวน 50 ต้นต่อคู่ผสม พบว่า มีจำนวน 1 คู่ผสม ที่มีการกระจายตัวของลักษณะทางใบปาล์มบิด และทางใบปาล์มปกติ จำนวน 38 และ 12 ต้น ตามลำดับ ส่วนคู่ผสมอื่นๆ ไม่พบลักษณะการเกิดทางใบบิด จากผลการศึกษาในคู่ผสมที่มีการกระจายตัวของลักษณะ พอจะสรุปถึงสาเหตุอันเนื่องมาจากพันธุกรรมได้ 2 กรณี คือ กรณีแรก ลักษณะทางใบปาล์มบิดอาจถูกควบคุมด้วยยีนเด่น 1 คู่ เนื่องจากมีการกระจายตัวของลักษณะเป็นไปตามกฎของเมนเดล (ทางใบบิด : ทางใบปกติ อัตรา 3 : 1) กรณีที่สอง ลักษณะทางใบปาล์มบิดอาจถูกควบคุมด้วยยีน 2 คู่ ที่เป็นอิสระต่อกัน โดยลักษณะทางใบปาล์มปกติจะมียีนด้อยโฮโมไซกัสคู่หนึ่งทำหน้าที่เป็นยีนยับยั้ง ยีนอีกคู่หนึ่งซึ่งเป็นยีนเด่นที่ควบคุมลักษณะทางใบบิด ยีโนไทป์ของยีนเด่นอาจอยู่ในรูปโฮโมไซกัสหรือเฮเทอโรไซกัส และเมื่อยีนด้อยโฮโมไซกัสที่ควบคุมลักษณะทางใบปาล์มปกติอยู่ร่วมกับยีนด้อยโฮโมไซกัสของอีกคู่หนึ่ง จะส่งผลให้ปาล์มมีลักษณะทางใบปาล์มบิดด้วยเช่นกัน ผลของการควบคุมด้วยยีน 2 คู่ ที่มียีนยับยั้งต่อลักษณะทางใบปาล์มบิดนี้ จะมีการกระจายตัวของลักษณะทางใบบิด : ทางใบปกติ ในอัตรา 13 : 3 ตามลำดับ ซึ่งในกรณีที่สองนี้มีความเป็นไปได้สูงกว่าในกรณีแรกที่กล่าวแล้ว และมีความสอดคล้องกับข้อมูลการกระจายตัวของลักษณะที่ศึกษาเช่นกัน อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษานี้จะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับรายงานที่เคยมีผู้ศึกษามาก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อสรุปให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2) ลักษณะเชิงปริมาณของปาล์มน้ำมัน
จัดเป็นลักษณะของปาล์มน้ำมันที่มีอัตราการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแปรปรวนตั้งแต่ต่ำ-สูง และมีอิทธิพลของปัจจัยสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ลักษณะที่พบมียีนควบคุมหลายคู่ การกระจายตัวของลักษณะในชั่วลูกเป็นแบบต่อเนื่อง ได้แก่
2.1) ลักษณะผลผลิตทะลาย (จำนวนทะลาย/ต้น น้ำหนัก/ทะลาย และ น้ำหนักทะลาย/ต้น)
2.2) ลักษณะองค์ประกอบของทะลายปาล์ม (ได้แก่ น้ำหนัก/ผล น้ำหนักเนื้อเมล็ดใน/ผล %ผล/ทะลาย %เนื้อปาล์มชั้นนอก/ผล %เนื้อเมล็ดใน/ผล % กะลา/ผล %น้ำมัน/เนื้อปาล์มสด %น้ำมัน/เนื้อปาล์มแห้ง %น้ำมัน/ทะลาย %เนื้อเมล็ดใน/ทะลาย และ %น้ำมันเนื้อเมล็ดใน/ทะลาย)
2.3) ลักษณะผลผลิตน้ำมัน (ผลผลิตน้ำมัน/ต้น/ปี และ ผลผลิตน้ำมันเมล็ดใน/ต้น/ปี)
2.4) ลักษณะการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน (ความสูง ความยาวทางใบ ความยาวใบย่อย ความกว้างใบย่อย จำนวนใบย่อย พื้นที่ใบ และจำนวนทางใบ)
จากผลการศึกษาภายใต้โครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน พบว่าค่าอัตราพันธุกรรมของลักษณะต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเชื้อพันธุกรรมของปาล์มที่ใช้ในการศึกษา อายุของปาล์ม และสภาพแวดล้อมในแปลงทดลอง อย่างไรก็ตามเมื่อประมวลผลการศึกษาต่าง ๆ บนพื้นฐานค่าประมาณการของอัตราพันธุกรรมของลักษณะต่างๆ ที่สูง พอสรุปได้ว่าลักษณะที่ควรใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเพื่อการปรับปรุงประชากรพ่อ-แม่พันธุ์ปาล์มน้ำมัน ได้แก่ ลักษณะผลผลิตทะลาย น้ำหนัก/ผล น้ำหนักเนื้อเมล็ดใน/ผล %เนื้อปาล์มชั้นนอก/ผล %เนื้อเมล็ดใน/ผล %น้ำมัน/เนื้อปาล์มแห้ง ลักษณะผลผลิตน้ำมัน ความสูง และความยาวทางใบ
ที่มา : ธีระ เอกสมทราเมษฐ์ สำนักประสานงานวิจัยและพัฒนา “ปาล์มน้ำมัน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย